“ดร.พิพัฒน์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP เผย หลังโควิดไทยขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จนถึง มิ.ย. 67 แตะ 1 ล้านล้านบาท ชี้ 3 อุตสาหกรรมน่าเป็นห่วง “ยานยนต์-ปิโตรเคมี-เหล็ก’ หวั่นแรงงานเสี่ยงตกงาน 7 แสนคน แนะ 4 ทางออกแก้ปัญหาประเทศ
วันที่ 3 กันยายน 2567 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวถึงผลกระทบจีนต่อประเทศไทยว่า จากช่วงก่อนปี 2010 ไทยส่งออกสินค้าไปจีนพอ ๆ กับการนำเข้าจากจีน แต่หลังจากนั้นไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น โดยหลังโควิดไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ย้อนหลังไป 12 เดือน พบว่าไทยขาดดุลการค้ากับจีนกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท
โดย 3 สาเหตุที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นคือ 1. Rerouting หรือ Trade diversion (การเบี่ยงเบนทางการค้า) คือการที่ไทยนำเข้าสินค้าจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ เพื่อหลบเลี่ยงสงครามการค้า ซึ่งจะเห็นว่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐกับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนมีความสอดคล้องกัน แสดงว่าช่วงไหนที่ไทยส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้นจะต้องนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นด้วย
“คือจีนใช้เราเป็น Connector Country อย่างเช่น สินค้าโซลาร์เซลล์ เรากลายเป็นผู้ส่งออกโซลาร์เซลล์ขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ปัญหาคือเราไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเกือบจะนำเข้าจากจีนทั้งหมด และใส่กล่องส่งออก อาจจะมีแค่กระบวนการประกอบเท่านั้นเอง ดังนั้นไทยได้ประโยชน์น้อยมาก”
2. Relocation หรือการที่จีนย้ายฐานผลิตมาไทยเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นยอดส่งออกไทยไปสหรัฐ จะเจอไอเท็มสินค้าแปลก ๆ ที่ไม่เคยผลิต แต่อยู่ดี ๆ ผลิตได้จำนวนมาก จากการที่สหรัฐลดการนำเข้าจากจีนและมานำเข้าจากไทยแทน เช่น Wifi Router ปีที่ผ่านมาเดือนหนึ่งส่งออกไปเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งประเด็นนี้จะมีความเสี่ยงอยู่ 2 เรื่องคือ 1. ไทยอาจจะโดนสหรัฐตามไปเช็กบิล และ 2. มูลค่าเพิ่ม (Value Added) ในประเทศมีไม่มาก เพราะเวลาจีนมาลงทุนในไทยมักจะเอาซัพพลายเชนมาด้วย ดังนั้นถ้าไทยจะได้ประโยชน์ต้องเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของจีนให้ได้
และ 3. Import Competition หรือการที่สินค้าจีนเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น
ซึ่งตอนนี้ 3 อุตสาหกรรมที่อาการค่อนข้างน่าเป็นห่วงจากผลกระทบข้างต้นคือ 1. อุตสาหกรรมเหล็ก เพราะโรงงานเหล็กในไทยสู้ต้นทุนไม่ได้จากการดัมพ์ราคาของสินค้าจีน จึงต้องนำเข้าจากจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ
2. อุตสาหกรรมรถยนต์ ปีนี้โดนผลกระทบ 2 เด้งคือ เศรษฐกิจชะลอตัวกดดันยอดขายรถยนต์ในประเทศหดตัวไปกว่า 20% และรถอีวีจีนเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด (EV Penetration) ไปอีก 20% จากที่จีนส่งออกรถอีวีไม่ได้เพราะโดนกำแพงภาษี ก็ทะลักมาขายในไทยเพราะนอกจากไม่มีกำแพงภาษีแล้วยังสนับสนุนการซื้อรถอีวีอีกด้วย
“จากเดิมไทยเคยผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเกือบ 100% ในประเทศ มีซัพพลายเชนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เกี่ยวข้องการจ้างงานรวมกว่า 7-8 แสนคน ซึ่งผลกระทบจากรถอีวีจีนเริ่มเห็นอาการชัดจากบริษัท Suzuki และ Subaru ปิดโรงงานในไทย ไปใช้วิธีการนำเข้าจากญี่ปุ่นมาขายแทน ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือจะกระทบหนักต่อการจ้างงาน
โดยการเปลี่ยนไปของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต จะส่งผลให้แรงงานกว่า 7 แสนคน เสี่ยงตกงาน จากตอนนี้กลุ่มผู้ประกอบยานยนต์ 25 บริษัท จ้างงานอยู่ 1 แสนคน ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier 1 มากกว่า 700 บริษัท จ้างงานอยู่ 2.5 แสนคน และผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier 2 และ Tier 3 มากกว่า 1,700 บริษัท จ้างงานถึง 3.4 แสนคน”...
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ :
https://www.prachachat.net/finance/news-1643700
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ